ทำไมหนอ... เราจึงมักเห็นผู้ใหญ่กังวลใจกับความรักของวัยรุ่นมากกว่าวัยอื่นๆ จนคำว่า “รักในวัยเรียน” กลายเป็นพฤติกรรมที่ผิด ไม่สมควร เป็นสิ่งต้องห้ามในสายตาผู้ใหญ่ | ||||
หรือนั่นเป็นเพราะ วัยรุ่นยังไม่มีความรับผิดชอบเพียงพอ ยังไร้เดียงสากับความรัก ยังขาดการยับยั้งชั่งใจ? น่าสงสัยว่า ผลลบของการมีความรักที่ปรากฏในสังคมทุกวันนี้ เกิดขึ้นเฉพาะกับวัยรุ่นเท่านั้นหรือ? และ “ความรัก” เป็นต้นเหตุอย่างนั้นหรือ? ถ้าเช่นนั้น ผู้ใหญ่ผ่านช่วงของ “รักในวัยเรียน” มาได้อย่างไร วัยรุ่นขาดคุณสมบัติ ขาดวุฒิภาวะที่จะมีความรักอย่างที่ผู้ใหญ่คิดกันจริงๆ? หรือที่จริงแล้ว เป็นเพราะวัยรุ่นขาดทักษะการจัดการความสัมพันธ์ เช่น ขาดทักษะการบอกความต้องการ การยุติความสัมพันธ์ การรู้เท่าทันพฤติกรรมของคู่ การจัดการกับอารมณ์ทางเพศของตนเอง รวมถึงทักษะการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยกันแน่? ทุกวันนี้ ผู้ใหญ่ห่วงแต่ว่าการมีความรักของวัยรุ่นจะนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ ทั้งมองความรักและเซ็กส์ของวัยรุ่นเป็นของคู่กัน จนหลงลืมเรื่องราวที่มากกว่าเรื่องเซ็กส์ไปหรือเปล่า การมีความรักไม่ได้หมายถึงการมีเซ็กซ์เสมอไป ในขณะที่เรื่องเพศ เป็นเรื่องที่ “ห้าม” พูดถึงในสังคม ฉะนั้น ช่องทางการเรียนรู้ที่มากกว่าเรื่องเพศสัมพันธ์จึงกลายเป็นเรื่องลับๆ โดยปริยาย ปัญหาคือ หากวัยรุ่นมีคำถาม เขาจะหาคำตอบได้จากที่ไหน ใครจะตอบเขาได้บ้าง หรือเขาจะกล้าไปถามใคร พฤติกรรม “อยากรู้อยากลอง” “ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ” จึงกลายเป็นคำเรียก “พฤติกรรม” ของวัยรุ่นที่เรามักได้ยินกันบ่อยๆ หรือเพราะผู้ใหญ่ลืมคิดถึงเบื้องหลังของพฤติกรรมเหล่านั้น สุดท้ายผลด้านลบของการมีความรักในวัยเรียน จึงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ตอกย้ำกับสังคมว่า “วัยรุ่น” เป็น “ตัวปัญหา” ถ้าตราบใดที่ผู้ใหญ่ยังสร้างกำแพงเรื่องเพศ แล้ววัยรุ่นจะเรียนรู้เรื่องเพศ เรื่องทักษะการจัดการความสัมพันธ์ การมีความรักที่เหมาะสม และการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยได้จากใคร หรือเมื่อโตขึ้น พวกเขาจะรู้เองได้? จะดีกว่าไหม ถ้าผู้ใหญ่จะทลายกำแพงนั้นทิ้งเสีย แล้วเปลี่ยนมาสร้างเกราะป้องกันให้พวกเขา สามารถประคองชีวิตในวัยรุ่น ทั้งเรื่องเรียน เรื่องรักได้อย่างเหมาะสม ด้วยการให้ข้อมูลที่รอบด้าน เพื่อให้พวกเขารู้จัก คิด วิเคราะห์ แยกแยะ และตัดสินใจด้วยตนเอง ไม่ใช่การ “คิดให้” แต่ “ให้คิด” |
วันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2558
ทำไมวัยรุ่นจึงมีปัญหา “รักในวัยเรียน”
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น